
แบตเตอรี่รถเป็นส่วนหนึ่งในรถยนต์ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนให้คุณไปถึงจุดหมายได้ โดยมีหน้าที่สำคัญในการเกิดปฏิกริยาเคมีที่ส่งกระแสไฟฟ้าไปจุดระเบิดในระบบเครื่องยนต์ ทำให้สตาร์ตติดได้ หากแบตเตอรี่มีปัญหาก็จะทำให้เครื่องยนต์ไม่ทำงาน อุปกรณ์ในรถที่เชื่อมโยงกับระบบไฟ เช่น ไฟหน้า ไฟท้าย พัดลม ฯลฯ จะไม่ทำงานไปด้วย
ส่วนประกอบในแบตเตอรี่รถยนต์
เรามาดูกันว่าส่วนประกอบในแบตเตอรี่ของรถยนต์มีอะไรบ้าง ที่ทำให้มันทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์
– ขั้วแบตเตอรี่ แบ่งเป็นขั้วบวกและขั้วลบ เพื่อทำปฏิกริยากันได้
– แผ่นธาตุและแผ่นกั้น แผ่นธาตุบวกและลบจะถูกวางเรียงสลับกัน โดยมีแผ่น ฉนวนจากยางคั่นกันไว้ หากสังเกตให้ดีจะเห็นรูเจาะไว้ทั่วทั้งแผ่นเพื่อให้น้ำกรดในแบตเตอรี่สามารถไหลผ่านไปมาได้
– น้ำกรด สำคัญต่อปฏิกริยาในแบตเตอรี่ระหว่างแผ่นธาตุบวกและลบ
– เซลล์ หรือ ช่องในแบตเตอรี่ หากเป็นแบตเตอรี่ชนิด 12 โวลต์จะมีทั้งหมด 6 ช่องหรือ 6 เซลล์ ภายในมีแผ่นธาตุบวกและธาตุลบอยู่ ซึ่งส่วนบนจะเตรียมไว้สำหรับการเติมน้ำกลั่นหรือน้ำกรด
การยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ มีเทคนิคในการดูแล ดังนี้
1. หมั่นตรวจเช็คแบตเตอรี่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรืออย่างน้อยที่สุดคือเดือนละ 1 ครั้ง
2. สังเกตคราบขี้เกลือว่ามีอยู่ตามขั้วหรือไม่ หากพบให้นำแปรงชุบน้ำอุ่นขัดถูแล้วใช้ผ้าซับให้แห้ง
3. สำหรับแบตเตอรี่ประเภทน้ำ ถ้าเห็นน้ำกลั่นในแบตเตอรี่พร่องไปต่ำกว่าขีด ก็ต้องเติมน้ำให้มากจนเหนือขีดบน แต่ต้องไม่ให้ล้นเพราะ น้ำกรดในแบตเตอรี่อาจทำปฏิกิริยาจนล้นออกมาให้เสียหายให้เครื่องยนต์
4. ควรวอร์มเครื่องทุก ๆ 2-3 วัน เพราะรถยนต์ที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน แบตเตอรี่จะเสื่อมเร็ว และทำให้สตาร์ทรถไม่ติดด้วย
ชนิดของ แบตเตอรี่ รถยนต์ มีสี่แบบ คือ
1. แบตเตอรี่น้ำ หรือแบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด มีความทนทานต่อการใช้งานสูงที่สุด และราคาประหยัดที่สุด
2. แบต MF เป็นแบตฯ แบบกึ่งแห้ง ตรวจน้ำกลั่นเพียงปีละ 1-2 ครั้งก็พอเพราะกรดในแบตฯ เข้มข้นมาก จึงระเหยช้า แต่ข้อเสียคืออายุการใช้งานสั้นกว่าแบบที่หนึ่ง
3. แบตเตอรี่แห้ง เหมาะกับคนที่ไม่มีเวลาดูแลเครื่องยนต์มากนัก เพราะไม่ต้องเติมน้ำกลั่น แต่ก็มีราคาที่สูงกว่าทั้งสองแบบที่กล่าวมา
4. แบบ hybrid เป็นแบบที่พัฒนาจากแบตเตอรี่น้ำ ใช้โลหะผสมในแบตฯ เพื่อลดการระเหยของน้ำกลั่นให้ช้าลง มักใช้กับรถขนาดใหญ่
รายละเอียดของแบตเตอรี่ รถยนต์ยังมีรายละเอียดที่ผู้ขับขี่ควรศึกษาไว้ เช่น สัญญาณไฟเตือน อาการแบตเสื่อม ฯลฯ หากสังเกตพบจุดบกพร่องตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ลดปัญหาที่เกิดจากแบตเตอรี่ได้ เราหวังว่าบทความนี้ทำให้ผู้ขับขี่รถสนใจการดูแลบำรุงรักษาอะไหล่ส่วนต่าง ๆ ในรถมากยิ่งขึ้น
อ่านเพิ่มเติม: ก่อนการทำสีรถยนต์ควรรู้อะไรบ้าง